5 พฤติกรรมมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นผู้แนะนำการลงทุน (IC)

28 กันยายน 2566
อ่าน 4 นาที

​​

ก.ล.ต. เตือนภัยหลอกลงทุน อย่าหลงเชื่อ!! มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นผู้แนะนำการลงทุน (IC)

มิจฉาชีพมาทุกรูปแบบจริง ๆ โดยเฉพาะการหลอกลวงให้ลงทุนในโลกออนไลน์ ล่าสุดพบว่า มีการชักชวนให้ทุนผ่านโซเชียลมีเดีย แอบอ้างว่า ตนเองเป็ผู้แนะนำการลงทุน (Investment Consultant : IC) ที่ได้รับอนุญาต พร้อมแสดงรูปภาพว่า มีชื่ออยู่ SEC Check First ซึ่งอาจจะทำให้ใครหลายคนหลงเชื่อ

แต่เดี๋ยวก่อน! นี่คือ กลเม็ดของมิจฉาชีพ ซึ่งใช้วิธีแอบอ้างบุคคลจริงแล้ว capture หน้าจอ เพื่อมาสร้างความน่าเชื่อถือ หลอกลวงให้ลงทุน 

วันนี้จะชวนมารู้ทันกับ 5 พฤติกรรมมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นผู้แนะนำการลงทุน (IC) ดังนี้

  • แอบอ้างเป็น IC ที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. โดยใช้รายชื่อ IC ที่มีอยู่จริงใน SEC Check First
  • ให้โอนเงินเข้าชื่อบัญชีบุคคล โดยอ้างว่าเป็นบัญชีหมุนเวียนของบริษัท หรือบัญชีที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท
  • มีการกำหนดรอบลงทุน โดยจะให้ผู้ลงทุนเพิ่มเงินลงทุนทุกครั้ง
  • เมื่อต้องการถอนเงินออกจากบัญชี จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ภาษี หรือค่าอื่น ๆ เพิ่มเติม
  • หากไม่ยอมจ่าย จะข่มขู่ว่าบัญชีจะถูกอายัด และไม่สามารถถอนเงินได้อีก​


ป้องกันตนเองจากมิจฉาชีพ

  • ​เช็กรายชื่อบริษัท บุคคล และผลิตภัณฑ์การลงทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ก่อนลงทุนได้ที่ www.sec.or.th/seccheckfirst หรือ แอปพลิเคชัน “SEC Check First”
  • ​​และเช็กต่อด้วยว่า สังกัด IC ที่ระบุไว้ ตรงกับสังกัดที่แอบอ้างหรือไม่ 
  • หยุดคิดสักนิดก่อนโอนเงินทุกครั้ง *ไม่โอนเงินเข้าชื่อบัญชีบุคคลธรรมดา* ถ้าจะโอนเงิน ให้โอนเข้าบัญชีปลายทางที่เป็นชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาต เท่านั้น
  • สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. โทร 1207 กด 1 (ข้อมูลเกี่ยวกับผู้แนะนำการลงทุน) กด 2 (ร้องเรียน/แจ้งเบาะแส) หรืออีเมล complaint@sec.or.th


ก่อนจากอยากฝากไว้ : 

การลงทุนมีความเสี่ยง ขอให้ประชาชนระมัดระวัง ตรวจสอบข้อมูลทุกครั้ง ก่อนตัดสินใจลงทุน 

“ก.ล.ต. ไม่ได้รับรองผลิตภัณฑ์ ผลการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจ หรือผลตอบแทนในการลงทุน”